"รักษาต่อเนื่อง-ส่งต่อไม่สะดุด" รองผู้ว่าฯ ทวิดา หนุนเชื่อมข้อมูลโรงพยาบาลให้เป็นหนึ่งเดียว

(3 เม.ย. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และการประชุมระบบทางไกล โดย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการบริหารระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในที่ประชุมว่า มีความก้าวหน้าที่ต้องคุยกันในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบข้อมูลที่เราต้องเชื่อมกันให้การรัษาพยาบาลเป็นหนึ่งเดียวกันจริง ๆ หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องการทำระบบส่งต่อ ซึ่งเรื่องของระบบส่งต่อจะส่งผลไปยังอีกเรื่องหนึ่งในอนาคตที่ไม่รู้ว่าหน่วยใหญ่คิดยังไง อาจจะต้องมีการปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย ซึ่งระบบ Refer (การส่งต่อผู้ป่วย) ในอดีตถูกกำหนดมานานมากแล้วว่าใครไปไหน เพราะฉะนั้นเขายังอยู่ให้ไปไหนที่นั่นหรือเปล่า เขาไปเปลี่ยนกันเองในระบบเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่แล้ว พบว่ามุมหนึ่งที่เราทำเป็นโซนเหมือนที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำ วัตถุประสงค์ของการส่งก็น่าจะตามโซน เพราะดูตัวอย่างนโยบายสาธารณสุขที่เราพยายามทำ ถึงแม้เราจะพยายามเพิ่ม accessibility (การเข้าถึงได้) ทั้งในแง่ระบบ Tele ทั้งในแง่ระบบข้อมูล ทั้งในแง่ของการเพิ่มตัวโรงพยาบาล หรืออะไรก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องมีวิธีการในการส่งที่เป็นระบบ และมีมาตรฐาน
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า วิเคราะห์มาแล้วการที่วชิรพยาบาลทำ HA Network ได้ โดยเน้นไปที่โรคเบาหวาน ปัจจัยตัวหนึ่งแน่ ๆ ที่มีน้ำหนักค่อนข้างสูง คือการที่วชิรพยาบาลเป็นจุดส่งของเขต 4 เขตนั้นอยู่แล้ว อันนี้คือน้ำหนักของ แฟคเตอร์ ที่ต่างจากโซนอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่โซนที่ความเหนียวแน่นของพื้นที่ของสถานพยาบาลที่สูงมากทั้งในแง่การรักษาพยาบาลและทั้งในแง่การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ โซนราชพิพัฒน์อาจมีน้ำหนักกว่าแต่กลับไม่สามารถให้ตัว Network เป็นอย่างนี้ได้ 2 อันนี้เลือกต่างกัน วชิรพยาบาลเลือกตัวโรค เป็น Service ราชพิพัฒน์เลือกทำทุกเรื่อง มันก็เลยต่างคนต่างมีจุดดีของ Sandbox อยู่แต่เดิม มันน่าจะถึงเวลาที่ทำตัว Network นี้ให้ขยายผลได้ จะขยายแบบวชิรพยาบาลทำ หรือขยายแบบอื่นก็ได้ ในท้ายที่สุดการส่ง Refer (การส่งต่อผู้ป่วย) ต้องจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด ไม่งั้นจะไม่ทำให้เราสามารถบริหารจัดการได้ เพราะทุกวันนี้พอนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร ยังต้องทำเอกสารใหม่เพราะปลายทางคนละสังกัด
นอกจากนี้ แม้อยู่ในโซนเดียวกันแต่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกันจริง ๆ เราก็ดับเบิ้ลงานให้ผู้ปฏิบัติ ตอนนี้อาจต้องกลับมาเรื่องของระบบไม่เชื่อมกัน และถ้าเชื่อมได้แล้วจะส่งข้อมูลอย่างไร ส่งต่อระบบการรักษาอย่างไร อาจจะต้องคุยกันในเรื่องการทำระบบให้เป็นระบบจริง ๆ อาจถึงเวลาที่คณะอนุกรรมการแต่ละเรื่องต้องเชื่อมกันเองแล้วด้วย วันนี้เราจะก้าวกันต่อไปอย่างไร ตอนนี้โรงพยาบาลเวชการุณย์เสนอจะช่วยดูโซน ซึ่งกำลังคิดถึงโซนที่ 8 แต่ถ้าการแบ่งโซนเยอะไป แต่การลิงก์ข้อมูล ลิงก์กายภาพไปไม่ได้ แบ่งโซนใหม่ไปก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ซึ่งต้องมีการหารือต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับวันนี้ที่ประชุมมีการนําเสนอผลการดําเนินงานฯ ของคณะกรรมการตามคําสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพื้นที่สุขภาพกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการเครือข่ายสาธารณสุขสู่เส้นเลือดฝอย กทม. คณะกรรมการพัฒนามาตรฐานระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ คณะกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตและเวชศาสตร์เขตเมือง และคณะกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพดิจิทัลกรุงเทพมหานคร รวมถึงผลการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน และกิจกรรมวิ่งล้อมเมือง
#กทม #บริหารจัดการดี #สุขภาพดี
———————————- (พัทธนันท์..
.สปส. รายงาน)
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
ความคิดเห็น