Menu
ONLINE 18
TH
EN
20/02/2025

บางนาพลิกที่ว่างปั้นสวนน้ำพุปากซอยสรรพาวุธ 2 ยกต้นแบบคัดแยกขยะตลาดคุณยิ้มย่านอุดมสุข ส่องพื้นที่รกข้างโรงเจร้างบางนา-ตราด 9 ตรวจซ้ำรอบ 2 คุมเข้มฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูน CPAC ถนนลาซาล

(20 ก.พ. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางนา ประกอบด้วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนน้ำพุ ซอยสรรพาวุธ 2 ถนนสรรพาวุธ ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ว่าง จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบึงในฝัน สวรรค์บางนา พื้นที่ 18,880 ตารางเมตร 2.สวนหย่อมใต้ทางด่วนสี่แยกบางนา พื้นที่ 13,120 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมประติมากรรมสี่แยกบางนา (ควายเหล็ก) พื้นที่ 1,060 ตารางเมตร 2.สวนหย่อมริมคลองเคล็ด ซอยบางนา-ตราด 23 พื้นที่ 520 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมโครงการดาดฟ้าลาซาล ถนนสุขุมวิท 105 พื้นที่ 640 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมข้างโครงการวันอุดมสุข (สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข) พื้นที่ 128 ตารางเมตร 5.สวนเด็ก 15 นาที ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 พื้นที่ 100 ตารางเมตร 6.สวนหย่อมลาซาลอเวนิว พื้นที่ 245 ตารางเมตร 7.สวนอาคารสำนักงาน เอไอเออีสต์เกตเวย์ พื้นที่ 800 ตารางเมตร 8.สวนน้ำพุ พื้นที่ 550 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนหย่อมท่าน้ำสรรพาวุธ พื้นที่ 208 ตารางเมตร อยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำสวน 15 นาทีอย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดคุณยิ้ม ถนนอุดมสุข มีผู้ใช้บริการ 600-700 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตลาดจะแบ่งผู้ค้าออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผู้ค้าที่ขายอาหาร จะคัดแยกขยะเศษอาหารใส่ถังขยะที่ตลาดเตรียมไว้ เจ้าหน้าที่ตลาดนำไปเทรวมไว้ที่จุดรวบรวมขยะเศษอาหาร เพื่อรอเกษตรกรมารับไปเป็นอาหารสัตว์ ผู้ค้าที่ขายผักและผลไม้ จะคัดแยกเศษผักและผลไม้ นำไปทิ้งในจุดที่ตลาดกำหนดไว้ ขยะบางส่วนตลาดจะนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่ตลาดเดินเก็บขยะรีไซเคิลตามจุดทิ้งขยะที่ตลาดกำหนดไว้ โดยทำการคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ต้นทางออกจากขยะทั่วไป และนำมารวบรวมไว้รอจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่ตลาดคัดแยกขยะทั่วไป นำไปรวมไว้ที่จุดพักขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย เจ้าหน้าที่ตลาดคัดแยกขยะอันตราย รวบรวมไว้ในจุดที่กำหนด แจ้งเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,800 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,150 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 25-30 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 650 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณโรงเจร้าง ซอยบางนา-ตราด 9 ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่พบว่ามีที่ดินรกร้างว่างเปล่าและมีการลักลอบทิ้งขยะ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ชุมชนข้างทางด่วน (เศวตวิทย์) และโรงเจร้าง ซอยบางนา-ตราด 9 โดยเขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไขเบื้องต้น จัดเก็บขยะออกจากพื้นที่ ติดตั้งป้ายประกาศห้ามทิ้งขยะ กำหนดจุดตรวจตู้เขียว จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบนำขยะชิ้นใหญ่และเศษวัสดุจากการก่อสร้างมาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนลาซาล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปรับปรุงรั้วโดยรอบแพลนท์ปูนให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยด้านล่างให้เป็นรั้วทึบ 2 เมตร ด้านบนเป็นรั้วโปร่ง 4 เมตร ปรับปรุงบ่อคายกากคอนกรีตและบ่อตกตะกอน หมั่นตรวจสอบไม่ให้มีตะกอนสะสมจนทำให้น้ำปูนล้นออกมา ล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนทุกครั้งก่อนออกจากแพลนท์ปูน ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 8 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 7 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำสถานที่ต้นทาง 13 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 68 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) รวมผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 2.ปากซอยสุขุมวิท 66/1 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.หน้าเดอะเครน ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา รวมผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-20.00 น. ผู้ค้า 9 ราย 4.หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา รวมผู้ค้า 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 5 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ผู้ค้า 124 ราย 2.ถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) ผู้ค้า 22 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 92 ราย ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาเข้า) ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.ซอยเพี้ยนพิน ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. 3.ซอยสุขุมวิท 105 (ลาซาล) ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 4.ถนนสรรพาวุธ ฝั่งซ้ายหน้าวัดบางนานอก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-12.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้า 5 จุด ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาออก) ผู้ค้า 6 ราย 2.ถนนสรรพาวุธ ซอย 2 (เลียบด่วน) ผู้ค้า 14 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคี่) ผู้ค้า 49 ราย 4.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคู่) ผู้ค้า 22 ราย 5.ถนนสรรพาวุธ ท่าน้ำวัดบางนานอก ผู้ค้า 12 ราย รวมถึงยกเลิกผู้ค้า 18 ราย บริเวณปากซอยสุขุมวิท 105 (ลาซาล) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณตลาดต้นไทร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และจัดทำ Hawker Center บริเวณตลาดดวงพลอย รองรับผู้ค้าได้ 5 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

Source :  https://pr-bangkok.com/?p=468539

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่

ความคิดเห็น

0 รายการ
เรียงลำดับตาม